สรุปข้อมูลศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตาก

 

นายสมชัยฐ์ หทยะตันย์ติ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เปิดเผยว่าจังหวัดตากได้มีการจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 96/2557
ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 โดยจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วทั้งจังหวัด ได้แก่ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด, ศูนย์ดำรงธรรมของทุกส่วนราชการและหน่วยงาน, ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ, ศูนย์ดำรงธรรมตำบล, ศูนย์ดำรงธรรมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้เสร็จสิ้นด้วยความรวดเร็ว ตามนโยบายของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติและได้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตาก ภายใต้กรอบแนวคิด ททท. หรือทำทันที เน้นการจัดการเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ได้แก่ Facebook “สมชัยฐ์ ผู้ว่าฯ ตากและทีมงาน” โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามความเคลื่อนไหว
ตลอด 24 ชั่วโมง (24 ชั่วโมง*7 วัน) ซึ่งสามารถรับเรื่อง และประสานงานแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ทันที และยังให้ความสำคัญต่อ “สถานีบำบัดทุกข์” หรือ “ศูนย์ดำรงธรรมตำบล” นำโดยกำนันผู้ปกครองท้องที่เป็นหัวหน้าสถานีฯ เน้นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในระดับพื้นที่เพื่อให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว โดยที่ประชาชนไม่ต้องเดินทางไปร้องเรียนที่อำเภอ จังหวัด หรือทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 เป็นต้นมา ผู้ว่าราชการจังหวัดตากมอบหมายให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตาก ดำเนินโครงการ “ศูนย์ดำรงธรรมสัญจรเพื่อคืนความสุขให้ประชาชน” โดยมีกำหนดออกสัญจรเพื่อให้บริการประชาชนตามท้องที่ต่างๆ ทั่วจังหวัดตาก อย่างน้อยเดือนละ 3 ครั้ง พื้นที่เป้าหมายได้แก่
1) ตลาดหรือแหล่งชุมชนที่มีประชาชนจำนวนมาก
2) พื้นที่ตามโครงการจังหวัดเคลื่อนที่ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข หรือโครงการอำเภอเคลื่อนที่
3) สถานีบำบัดทุกข์ตำบล ( 7-11 TAMBON) และ
4) พื้นที่ที่มีการร้องเรียน และผู้ว่าราชการจังหวัดตากสั่งการ
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนชาวจังหวัดตากสามารถเข้าถึงการบริการของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตากได้มากยิ่งขึ้น และเพื่อให้หน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้แก่ประชาชน เข้าใจและเข้าถึงปัญหาความเดือดร้อน รวมทั้งตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กิจกรรมของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตากสัญจร ได้แก่ การประชาสัมพันธ์ รับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ พบปะ พูดคุย เยี่ยมเยียน รับฟังปัญหาความต้องการ ประสานการแก้ไขปัญหา ตามที่มีการร้องเรียนเข้ามายังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตาก โดยมีการบูรณาการแผนการออกให้บริการร่วมกับหน่วยงานร่วม ได้แก่ ที่ทำการปกครองจังหวัด, สำนักงานยุติธรรมจังหวัด, สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด, สำนักงานที่ดินจังหวัด และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยชุดปฏิบัติการประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานประจำศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตาก และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานร่วม
1. สรุปผลการดำเนินงานในรอบเดือนที่ผ่านมา
1.1 เรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ ในเดือนมีนาคม 2558 (ถึงปัจจุบัน) รวม 20 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ 8 เรื่อง ยุติเรื่องแล้ว 12 เรื่อง (คิดเป็นร้อยละ 60.0)
1.2 เรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ ตั้งแต่จัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตามนโยบายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ/คสช. (ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2557 ถึงปัจจุบัน) รวม 745 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ 255 เรื่อง ยุติเรื่องแล้ว 490 เรื่อง(คิดเป็นร้อยละ 66.0)
2. ประเภทเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ที่มากที่สุด เรื่องร้องเรียนร้องทุกข์จำแนกตามประเภทที่มีการร้องเรียนมากที่สุด 3 ลำดับแรก ดังนี้
1. สาธารณูปโภคพื้นฐาน (ไฟฟ้า/ประปา/ถนน) 139 เรื่อง
2. พฤติกรรมเจ้าหน้าที่รัฐ 118 เรื่อง
3. ที่ดินทำกิน 72 เรื่อง
3. จำนวนเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ที่ได้รับการแก้ไขแล้วเสร็จ
เรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ที่ได้รับการแก้ไขจนแล้วเสร็จของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตาก ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 490 เรื่อง
จากจำนวนทั้งหมด 745 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 66.0 โดยช่องทางการร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดได้แก่ การร้องเรียนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ได้แก่ Facebook ของผู้ว่าราชการจังหวัดตาก “สมชัยฐ์ ผู้ว่าฯ ตากและทีมงาน” มีประชาชนได้ร้องเรียนผ่านช่องทางนี้มากถึง 267 เรื่อง ซึ่งมีการแจ้งให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาในทันที และสามารถดำเนินการตอบสนองต่อข้อร้องเรียนของประชาชนได้มากถึง ร้อยละ 100 ของเรื่องที่มีการร้องเรียนผ่าน Facebook
4. แนวโน้มการเพิ่มหรือลดลงของเรื่องร้องเรียนในจังหวัด
4.1 แนวโน้มเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตาก เมื่อพิจารณาจากสถิติเรื่องร้องเรียนฯ (เฉพาะห้วงเดือนสิงหาคม 2557 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2558) เฉลี่ยประมาณ 100 เรื่อง/เดือน
4.2 เมื่อเปรียบเทียบกับสถิติเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ในปีงบประมาณก่อนหน้า เห็นได้ว่า เรื่องร้องเรียนฯ มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งนี้ เป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ, การประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวง กรม และจังหวัด
ปีงบประมาณ พ.ศ.2556 จำนวน 340 เรื่อง
ปีงบประมาณ พ.ศ.2557 จำนวน 271 เรื่อง
ปีงบประมาณ พ.ศ.2558 จำนวน 745 เรื่อง
5. ปัญหาข้อขัดข้องและข้อเสนอแนะ
5.1 ข้อขัดข้องในการจัดการเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์
เรื่องร้องเรียนหลายเรื่องในพื้นที่จังหวัดตากเป็นอำนาจของส่วนกลางหรือเป็นปัญหาระดับนโยบาย ไม่ใช่อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะแก้ไขได้ อาทิ ร้องเรียนเกี่ยวกับระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน (ไฟฟ้า/ประปา/ถนน) ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ หรือป่าอนุรักษ์ ซึ่งเป็นอำนาจการอนุญาตของหน่วยงานสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ ร้องขอที่ทำกินในเขตป่าหรือที่สาธารณประโยชน์ ซึ่งขัดกับนโยบายของรัฐบาล/คสช. เป็นต้น
5.2 ข้อเสนอแนะ
เพื่อให้การแก้ไขปัญหาระดับจังหวัดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างทันท่วงที รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีควรพิจารณามีมติให้กระทรวง กรม ซึ่งเป็นราชการส่วนกลาง มอบอำนาจตามกฎหมายในเรื่องที่เป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด ในทำนองเดียวกับข้อ 5 ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 96/2557 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2557
*******************

ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตาก (สำนักงานจังหวัดตาก) 

ข้อมูล ณ วันที่ 22 มีนาคม 2558